ส.อ.ท. จับมือ อย. ผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลาง
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นวัตกรรมระดับภูมิภาค
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม 2568 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดงานแถลงข่าว "ดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม" โดยได้รับเกียรติจากนายโฆษิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดงาน และนายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ส.อ.ท. พร้อมนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลง เพื่อชี้แจงดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม รวมทั้งหารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร OSSC ชั้น 10 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
การจัดงานแถลงข่าว "ดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม" ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายเกรียงไกร
เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ ส.อ.ท. โดยหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากกฎหมาย กฎระเบียบที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งหารือแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ อันนำไปสู่การส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัย พัฒนา และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม ผ่านกลไกความร่วมมือ 3 ด้าน คือ การส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ การสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ
นายโฆสิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งสอดรับกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ที่พร้อมส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้ ผ่าน 7 นโยบายด้านเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 6.9 แสนล้านบาทในปี 2568 ส่งผลต่อการเพิ่ม GDP ของประเทศ โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีนวัตกรรม มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จะช่วยเสริมพลังการขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพได้เป็นอย่างดี
นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมว่า ส.อ.ท. ได้จัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ประกอบด้วย 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ยา อาหารและเครื่องดื่ม ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ สมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะร่วมกันขับเคลื่อนให้ประเทศไทย
เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสุขภาพของอาเซียน ผ่านการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตั้งแต่การพัฒนาด้านวัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568 การผลิตและการส่งออกของสินค้าในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม จะเติบโตประมาณ 10% ตามการสนับสนุนและยกระดับสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และมีปัจจัยหนุนจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความต้องการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การแข่งขันในระดับภูมิภาค และข้อจำกัดด้านเงินทุน
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเสริมว่า อย.
พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม โดยร่วมมือกับ ส.อ.ท. ผ่านกลไกต่างๆ เช่น คณะทำงาน คณะอนุกรรมการ และโครงการ Sandbox โดยเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสินค้ามูลค่าสูง รวมทั้งผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนา และผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม
ปัจจุบัน อย. ขับเคลื่อนความร่วมมือใน 3 ด้านหลัก คือ
1. สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ด้วยการจัดตั้ง One Stop Service และยกระดับผู้ประกอบการให้พร้อมขึ้นทะเบียน
2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยส่งเสริมการใช้สถานที่ผลิตร่วมสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย
3. สร้างความเชื่อมั่น ผ่านกลไกรับฟังข้อเสนอแนะและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อย. ยังได้จัดตั้ง “กองเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ” เพื่อพัฒนาดัชนีวัดความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมสุขภาพ และเตรียมนำ Big Data และ AI มาจัดการข้อมูล พร้อมพัฒนาระบบ Track and Trace และฉลากดิจิทัล (Digital Labeling) เพื่อเพิ่มความโปร่งใส เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“อย. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างแท้จริง” นายแพทย์สุรโชค กล่าวทิ้งท้าย