“คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน” จุดเริ่มต้นของห้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงโลก - Leadership Way

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

“คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน” จุดเริ่มต้นของห้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงโลก

 “คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน” จุดเริ่มต้นของห้องเรียนสู่การเปลี่ยนแปลงโลก



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานแนะนำการใช้ “คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน” อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากรทางวิชาการ และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและร่วมขับเคลื่อนความรู้ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนสู่ระบบการศึกษาไทย


ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในพิธีเปิด รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมฯ เปิดเผยถึงเป้าหมายของคู่มือฯ ว่า ไม่ได้เป็นเพียงหนังสือเรียนทั่วไป แต่เป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนครูในการเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในการเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง “เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย” ได้ขับเคลื่อนแนวคิดความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างต่อเนื่องผ่าน


โครงการ Carbon Neutrality Campus (CNC) ซึ่งริเริ่มโดยคณะสิ่งแวดล้อมฯ ด้วยทุนสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ (Joint Unit) มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับความร่วมมือจากองค์กรระดับนานาชาติ ได้แก่ ได้แก่ UNESCAP และ Shanghai Jiao Tong University โดยปัจจุบันมีเครือข่ายร่วมมือจากกว่า 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ล่าสุด โครงการ CNC ได้ขยายผลลงสู่ระดับโรงเรียน ด้วยความเชื่อมั่นว่าเยาวชนคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมในระยะยาว และการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเป็นกลางทางคาร์บอน ควรเริ่มตั้งแต่วัยเรียน 


โดย “คู่มือครูความเป็นกลางทางคาร์บอน” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมกระบวนการเรียนการสอนด้านนี้อย่างเป็นระบบและเข้าใจง่าย คู่มือฯ ฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาครอบคลุม 8 บทเรียนสำคัญ ได้แก่ ความยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs), การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ก๊าซเรือนกระจก, แนวคิดวัฏจักรชีวิต, คาร์บอนฟุตพริ้นท์, การดูดกลับก๊าซเรือนกระจก, การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยภายในคู่มือมีรายละเอียดที่ช่วยให้ครูสามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น จุดประสงค์ของบทเรียน สาระสำคัญ แนวทางการจัดการเรียนรู้ ตัวอย่างกิจกรรม แบบทดสอบ และแนวทางการวัดและประเมินผล พร้อมแหล่งอ้างอิงและช่องทางสำหรับการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติม


ในช่วงท้ายของงาน คณะผู้จัดได้เชิญชวนโรงเรียนเครือข่ายทุกแห่งร่วมกันสะท้อนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือแบ่งปันภาพกิจกรรมที่ใช้คู่มือฉบับนี้ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่โรงเรียนอื่น ๆ ในเครือข่ายที่ต้องการเริ่มต้นแนวทางเดียวกัน
พร้อมกันนี้ ได้มีการประกาศแนวคิด “School Living Lab” ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการสร้างพื้นที่เรียนรู้และทดลองแนวทางการลดคาร์บอนในระดับโรงเรียน


 โดยมีแผนที่จะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเยี่ยมชมโรงเรียนต้นแบบร่วมกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ...





Post Bottom Ad



Pages