วช. แสดงมิติใหม่แห่งนวัตกรรมไทย จัดเวที “Innovation Talks 2025” ภายในงานวันนักประดิษฐ์ 2568 - Leadership Way

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

วช. แสดงมิติใหม่แห่งนวัตกรรมไทย จัดเวที “Innovation Talks 2025” ภายในงานวันนักประดิษฐ์ 2568

วช. เปิดมิติใหม่แห่งนวัตกรรมไทย จัดเวที “Innovation Talks 2025” ภายในงานวันนักประดิษฐ์ 2568

     สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม “Inventors’ Connect: Innovation Talks 2025” ภายในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568 ณ เวที Mini Stage ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 2 - 6 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. และสะท้อนศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยในการขับเคลื่อนประเทศผ่านผลงานวิจัยและนวัตกรรม
     ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรม “Inventors’ Connect: Innovation Talks 2025” จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานของ วช. ในการสนับสนุนและส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมให้แก่ประชาชนทั่วไป และกระตุ้นให้เกิดการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
     โดยมีการนำเสนอผลงานที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกมิติ อาทิ “สีเขียวเพื่อทุกสีสัน : หมึกพิมพ์และสารเคลือบชีวภาพ” โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เบสท์ทูซอร์บ: นวัตกรรมตัวดูดซับแบบย่อยสลายได้ เพื่อใช้ในผ้าอ้อมผู้ใหญ่ โดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พาราแมกซ์: ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติสำหรับควบคุมผักตบชวา โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน  ห้องแสดงจักรวาลจำลองแบบโต้ตอบได้เพื่อการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ระบบและอุปกรณ์ประมวลผลเพื่อคัดกรองผู้มีภาวะเสี่ยงหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดอุดกลั้น (โรคนอนกรน) โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ โรงพยาบาล ราชวิถี มหาวิทยาลัยมหิดล นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เซรามิกสร้างสรรค์จากลักษณะเฉพาะของขยะเปลือกหอยแมลงภู่ โดย มหาวิทยาลัยบูรพา 
     รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ และ ดร.ธนัญชัย พิรุณพันธ์ สองนักวิจัย ผู้คิดค้น ผลงานชื่อ  “เขียวเพื่อทุกสีสัน : หมึกพิมพ์และสารเคลือบชีวภาพ” เล่าถึงผลงานนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า  จุดเริ่มต้นมาจากความสนใจในเนื้อหมึกพิมพ์ที่อยู่บนพื้นผิวของวัสดุต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งเล็กๆ ที่หลายคนมองข้ามไป เมื่อเริ่มศึกษาจึงพบว่าหมึกพิมพ์นั้น ผลิตมาจากวัสดุที่มาจากฐานปิโตรเลียมเป็นส่วนใหญ่และเมื่อหมึกพิมพ์หรือสารเคลือบเปลี่ยนเป็นฟิล์มพลาสติกบางบนวัสดุ เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษ ก็อาจจะไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จึงทำให้ยากต่อการนำกระดาษไปรีไซเคิลเพราะต้องแยกกระดาษออกจากพลาสติกเสียก่อน การใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษที่มีส่วนผสมของพลาสติกถือได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งหมึกพิมพ์และสารเคลือบมีความเกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ทั้งสิ้น จึงนับเป็น “ส่วนเล็กๆ ที่ไม่น้อย” ที่เราไม่ควรมองข้าม การพัฒนาผลงานนี้เริ่มจากการเลือกใช้วัสดุหรือสารเคมีฐานชีวภาพที่ทำจาก น้ำตาลและน้ำมันธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบเคมีชีวภาพที่มาจากรากฐานของอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีจากฐานปิโตรเลียม และพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้วัสดุบรรจุภัณฑ์มีองค์ประกอบของวัสดุฐานชีวภาพและสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพได้โดยสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า มีการนำเข้าวัสดุที่เป็นหมึกพิมพ์สูงถึง 160 ล้านตันต่อปี รวมเป็นมูลค่า 50,000 ล้านบาท ผลงานนี้นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้วยัง ลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ แต่ยังคงคำนึงถึงศักยภาพการใช้งานได้จริงในอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมและรองรับอุตสาหกรรมการพิมพ์แบบสะอาดในอนาคต
     ตลอดระยะเวลาการจัดงาน มีนักประดิษฐ์ นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา และประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ และศักยภาพของนักวิจัยไทยในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
     วช. มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมในทุกระดับ เพื่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Post Bottom Ad



Pages