สร้างต้นแบบ นวัตกรรมการศึกษา แก่เยาวชน - Leadership Way

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สร้างต้นแบบ นวัตกรรมการศึกษา แก่เยาวชน

มทร.ธัญบุรี ร่วม สพฐ. พัฒนาการสอนภาษาอังกฤษ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเอไอ 
สร้างต้นแบบ นวัตกรรมการศึกษา แก่เยาวชนกว่า 12,000 คน

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดโครงการพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา 4 ภูมิภาค จุดประกายนวัตกรรมการศึกษา สร้างโรงเรียนต้นแบบ 36 แห่งทั่วประเทศ พัฒนาการจัดการเรียนการสอน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้าง Adaptive Learning พัฒนาบุคลากร การจัดการห้องเรียน และสร้างเยาวชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ได้แล้วกว่า 12,600 คน 

  ดร.สุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เผยว่า โครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษของครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใน 4 ภูมิภาค ได้ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยครูสามารถสื่อสารและใช้สื่อทรัพยากรการเรียนรู้สมัยใหม่ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และมีศักยภาพสูงในการขยายผลการเรียนรู้ และยกระดับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  ข้อสำคัญคือการได้ร่วมพัฒนาเยาวชน ซึ่งในโครงการนี้ได้ฉายภาพการเรียนรู้ของเด็กกว่า 12,600 คน เป็นจุดตั้งต้นที่ชัดเจน และมีบุคลากรการศึกษากว่า 150 คน จาก 36 โรงเรียนในทั้ง 4 ภูมิภาค ได้มีการเรียนรู้และปรับตัวไปสู่การเรียนรู้ที่เรียกว่า Adaptive Learning ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น คือ โดยเน้นการปรับกระบวนการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้เรียน และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยไม่จำกัดเพียงแค่ในโรงเรียน แต่เรียนรู้ได้จากทุกที่ และสามารถที่จะเรียนรู้ได้ไม่จำกัดเวลา

  ด้าน ผศ.ดร.พงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า มทร. ธัญบุรี มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตนวัตกร โดยผนวกรวมกับเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้ในการเรียนรู้ สะท้อนให้เห็นความตั้งใจจากการที่มหาวิทยาลัยเป็น 1 ใน 8 สถาบันอุดมศึกษาของทวีปเอเชีย ที่ THE Awards Asia 2024 ได้ประกาศรางวัลในรอบ Final จากหมวด ‘กลยุทธ์การสอนและการเรียนรู้แห่งปี’ Teaching and Learning Strategy of the Year ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้มีความสามารถทางวิชาการ วิชาชีพ มีคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่เพียงการผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ มทร.ธัญบุรี ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลกับผู้เรียน เช่นเดียวกับโครงการในครั้งนี้ ที่ มทร.ธัญบุรี ร่วมกับ สพฐ. ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลลัพธ์สู่เป้าหมาย ทั้งตัวครูผู้สอนที่ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือช่วยจัดการเรียนการสอน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเรียนรู้ของนักเรียนเองด้วย

  ขณะที่ ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดำเนินการได้กล่าวเสริมว่า มทร.ธัญบุรี ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐานและฝึกอบรมจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ครูผู้สอนสามารถจัดการเรียนการสอนและใช้ชุดสื่อการสอนได้

 ซึ่งหลังจากได้ทดลองจัดการเรียนตลอด 1 ภาคการศึกษา ในการใช้แพลตฟอร์มอัจฉริยะเพื่อการเรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษ เช่น โปรแกรม English Galaxy, Chivox, Edmodoworld จอสัมผัส แท็ปเลต และหูฟัง ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ เราพบแนวปฏิบัติที่ดี จากครู 36 โรงเรียน ซึ่งมี 5 ประเด็นสำคัญคือ (1) การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่น่าสนใจสำหรับนักเรียน (2) บทเรียนที่เน้นการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ เช่น กิจกรรมกลุ่ม การฝึกภาษาในสถานการณ์จริง และการใช้สื่อต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ (3) การสร้างและสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้นักเรียนมีโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะกับรูปแบบการเรียนของแต่ละคน (4) การใช้ข้อมูลในการติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน และประเมินผลของการเรียนรู้ได้ตลอดและต่อเนื่อง เป็นการปรับปรุงกระบวนการการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพขึ้น และ (5) การสร้างพื้นที่ที่สนับสนุนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียนและครู และสร้างสถานการณ์ที่กระตุ้นการสนทนาและการทำงานกลุ่ม ทำให้นักเรียนมีความสุขและสนุกกันการเรียน

  ทั้งนี้ ผลการทดลองของครูผู้สอนในภาพรวม พบว่า ชุดสื่อมีความทันสมัย น่าสนใจ ทำให้เด็กนักเรียนอยากเรียนรู้ และสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และยังเสริมสร้างทักษะการรู้ดิจิทัล ในระหว่างการเรียนวิชาภาษาอังกฤษสนับสนุนครูในการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการวัดและประเมินผลได้อย่างดีมาก มองเห็นความสำคัญของชุดสื่อและกำลังวางแผนการขยายผลการใช้งานอย่างยั่งยืนต่อไป ครูผู้สอนส่วนมากมีทัศนคติที่ดีต่อการบูรณาการชุดสื่อเทคโนโลยีของโครงการ การสวมบทบาทการเป็นผู้นำการสอน จึงเกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายและสนุกสนาน เนื่องจากการลดบทบาทของความเป็นผู้สอน และเพิ่มบทบาทของการเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ของครูผู้สอน ซึ่งนำไปสู่สร้างทัศนคติเชิงบวกต่อการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ และข้อสำคัญยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบายจากฝ่ายบริหารในทุกระดับ ทั้งในระดับสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนต่อไป.


Post Bottom Ad



Pages