Header ADS

ไม่มีชื่อ

ผนึกกำลัง สสส. - สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ MOU พัฒนาศักยภาพคน ผ่านหลักสูตร ThaiHealth Academy เสริมพลังนักสังคมสงเคราะห์ สร้างนวัตกรรมความรู้ ขยายผลสู่งานสร้างเสริมสุขภาพในระดับพื้นที่

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) พัฒนาหลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระยะเวลา 3 ปี ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ภารกิจหลักของ ThaiHealth Academy คือ พัฒนาศักยภาพ สร้างการเรียนรู้ภาคีเครือข่าย ประชาชน หน่วยงานภาคต่าง ๆ สู่การเป็นนักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพครบวงจร ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาศักยภาพของสหวิชาชีพ-นักสังคมสงเคราะห์ ให้มีความรู้ เสริมทักษะการทำงาน สนับสนุนระบบบริการสุขภาพ รู้เท่าทันจัดการปัญหา การออกแบบชีวิตให้มีสุขภาวะ ขยายผลไปยังชุมชน 

“นักสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชน ที่ประสบปัญหาสังคม ใช้ศักยภาพ ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เสริมพลังตนเอง ครอบครัว และชุมชน อันเป็นภารกิจที่มีความท้าทายอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะการทำงาน เชื่อมโยงกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เชื่อมั่นว่านักสังคมสงเคราะห์จะสามารถพัฒนาสมรรถนะตนเองได้เป็นอย่างดี ผ่านการอบรม สัมมนา โดยใช้เครื่องมือผ่านหลักสูตร ThaiHealth Academy ทั้งนี้ ยังมีหลักสูตรเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ สำหรับองค์กร หน่วยงาน และประชาชนทั่วไป ผู้ที่สนใจ ติดต่อได้ที่ www.thaihealthacademy.com” ดร.ประกาศิต กล่าว

ศ.สค.ร.ระพีพรรณ คำหอม นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่า นักสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพที่ต้องทำความเข้าใจสภาวะกาย จิต สังคม ของมนุษย์ ทั้งสาเหตุแห่งปัญหาความสัมพันธ์ และผลกระทบจากสังคม สิ่งแวดล้อม ต้องมีองค์ความรู้ เชื่อมโยงแก้ไข ป้องกันปัญหา มีหลักจรรยาบรรณของวิชาชีพ  ปัจจุบันมีนักสังคมสงเคราะห์ 4,184 คน ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  จำนวน 3,109 คน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เป็นสิ่งสำคัญ ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทันสมัย เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ทิศทางความร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร ให้เหมาะกับปัจจุบัน เพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะต่อไป